โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระยะยาว
การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในภูมิภาค ที่ทำขึ้นตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ซึ่งเบื้องต้น โครงการระยะที่ 1 ประกอบด้วย 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 80.5 กิโลเมตร และระยะที่ 2 เป็นส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง และโครงการใหม่ 2 เส้นทาง รวมระยะทาง 30.1 กิโลเมตร
ความคืบหน้า
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า พ.ศ. … โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบ ได้ข้อสรุปว่า สายสีแดง เส้นทางมหาวิทยาลัยพิษณุโลก – ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พิษณุโลก เป็นเส้นทางที่เหมาะสมเป็นลำดับแรก โดยจะใช้รูปแบบรถรางล้อยาง วิ่งระดับดินระยะทาง 12.6 กิโลมตร รวม 15 สถานี 1 ศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณมหาวิทยาลัยพิษณุโลก และ 2 จุดจอดแล้วจร ที่ศูนย์ซ่อมบำรุง และตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พิษณุโลก
เส้นทางสายสีแดง
เส้นทางนี้เริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก มุ่งสู่ทิศเหนือผ่านสถานีขนส่งพิษณุโลก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 12 ไปทางทิศตะวันตก ผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในตัวเมืองพิษณุโลก เช่น ห้างสรรพสินค้าแมคโคร ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส เทคนิคพาณิชย์การพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ศาลากลางจังหวัด และสิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พิษณุโลก
รูปแบบการลงทุน
โครงการนี้จะใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP- Net Cost (Public Private Partnerships) โดยรัฐลงทุนค่าเวณคืนที่ดิน ค่าก่อสร้าง และค่าวางระบบ เอกชนจัดซื้อขบวนรถและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,440 ล้านบาท คาดว่าเริ่มต้นก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2566 และเปิดใช้บริการในปี 2569